ความยั่งยืน

ศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้า

ศูนย์ส่งเสริมสังคมโดย ระบบโตโยต้า คือใคร

ศูนย์ส่งเสริมสังคมด้วยระบบโตโยต้า ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ตามเป้าหมายหลักของโตโยต้าที่ต้องการจะสร้างความสุขให้กับทุกคน โดยการร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งทวีปเอเชีย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพของงาน ผ่านการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) ไปประยุกต์ใช้ในงานหลายประเภท

ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS)

TPS เป็นหลักปรัชญาเพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านคุณภาพ และต้นทุน โดยกำจัดความสูญเปล่าที่มีอยู่ในระบบซึ่งใช้หลักสำคัญ 2 ประการคือ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time) และกระบวนการควบคุมโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด (Jidoka) ร่วมกับวิถีโตโยต้า(Toyota way) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความเคารพต่อบุคคลที่ร่วมงานด้วย หากท่านสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ลิงค์ต่อไปนี้

สร้างรอยยิ้มให้กับคนไข้ใน โรงพยาบาล ประเทศกัมพูชา

ในปี 2562 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท โตโยต้าไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และ บริษัท โตโยต้า แคมโบเดีย จำกัด ได้เปิดตัวโครงการที่ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนโรงพยาบาลในประเทศกัมพูชา โดยใช้หลักระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือ TPS เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ จนทำให้โรงพยาบาลสามารถลดระยะเวลาการรอของผู้ป่วย ก่อนเข้ารับการรักษาจากแพทย์

ส่งเสริม “SMART Hospital” ในโรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

กิจกรรมนี้เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2563 โดยทางศูนย์ส่งเสริมสังคมด้วยระบบโตโยต้า ได้ดำเนินงานร่วมกับทางโรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้นโยบายที่ต้องการจะเป็นโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นได้

กิจกรรมเฟสที่ 1 และ 2 (ม.ค. 63 ถึง ก.พ. 64): ลดระยะเวลาและเส้นทาง ในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยนอก

  • ลดเวลาการดำเนินงานของห้องจัดยา โดยการทำให้เห็นปัญหา และทำการปรับปรุงกระบบการทำงาน
  • ลดเวลารอคอยของผู้ป่วย ผ่านการปรับกระบวนการทำงานเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมเฟสที่ 3 (เม.ย. 64 ถึง ก.ค.64): ลดระยะเวลาการเข้ารับบริการของผู้ป่วยใน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยการลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และรวมศูนย์การบริหารไว้ในที่เดียวกัน

ร่วมกับโรงพยาบาลบางบ่อ สร้างความสุขทางสุขภาพในชุมชนใกล้เคียงบริษัท

โรงพยาบาลบางบ่อ เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็ก ที่แผนกผู้ป่วยนอกซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนจำกัด (ประกอบด้วยแพทย์ 2-4 คนและพยาบาล 4-6 คน) ต้องรองรับผู้ป่วย 70-140 รายต่อวัน (โดยเฉลี่ย 92 รายต่อวัน) ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอรับบริการเป็นเวลานาน

หลังการปรับปรุงขั้นตอน และแผนผังการทำงานด้วยระบบ TPS ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม 2565เป็นผลให้เวลาการรอรับบริการลดลงจาก ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เหลือ 2-3 ชั่วโมง และผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากขึ้น ร่วมไปกับทีมพยาบาลที่ทำงานสะดวกมากขึ้น

TSSC ใช้แนวคิด TPS เพื่อทำลดความซ้ำซ้อนในการทำงานลง และผู้ป่วยใช้บริการสะดวกมากขึ้น โดย

  • จัดผังการเดินใหม่ ให้เป็นการเดินไปในทิศทางเดียว
  • ลดขนาดพื้นที่รอเรียกคิวลง เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยินพยาบาลเรียกคิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทำป้ายนำทางผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย และลดคำซ้ำซ้อนในการอธิบายขั้นตอนของพยาบาล
  • เพื่อความเร็วในการจัดยา โดยการเปลี่ยนระบบเดินส่งใบสั่งยา เป็นส่งเอกสารตรงทางออนไลน์ถึงห้องยา
  • เกลี่ยคิวนัดแพทย์ กับห้องแล็บ ในช่วงเช้าและบ่ายให้สมดุลย์กัน

การปรับปรุงดังกล่าว ทำให้สามารถลดปริมาณงานของพยาบาลลง คนไข้ได้รับบริการสะดวกและรวดเร็วขึ้น TSSC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชุมชนข้างเคียงบริษัท ผ่านทางแนวคิด TPS

จัดตั้งระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ให้กับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ

ความร่วมมือนี้เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อการนำระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT) มาใช้ในการจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบริหารจัดการได้ด้วยสถาบันฯเอง เพื่อการจัดส่งของให้กับผู้ใช้ตามที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ และปริมาณสินค้าคงคลังที่น้อยที่สุด

เฟสที่ 1 (ม.ค. ถึง มี.ค. 64): สร้างมาตรฐานการทำงาน และการจัดการสิ่งผิดปกติที่หน้างาน

สร้างมาตรฐานการทำงานแต่ละขั้นตอน และช่วยกำจัดความผิดปกติในเนื้องาน เพื่อลดจำนวนรายการค้างส่งและจำนวนของขาด

เฟสที่ 2 (เม.ย. ถึง มิ.ย. 64): จัดการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว

ลดเวลารวมทั้งหมดที่จะส่งของสินค้าให้สั้นลง โดยการลดปริมาณการสั่งต่อครั้งให้น้อยลง และเพิ่มความถี่ในการส่งสินค้า ลดเวลาในกระบวนการจัดซื้อสินค้าและจัดเตรียมสินค้า ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ก้าวต่อไปของ CNMI – ไม่ใช่แค่การจัดการภายใน แต่ต้องครอบคลุมไปถึงคู่ค้าภายนอก

จากวิสัยทัศน์ของ CMNI ที่ต้องการมุ่งหน้าพัฒนาตัวเองเป็นสถาบันการแพทย์หลักที่จะรองรับประชาชนในภาคตะวันออกของประเทศไทย ดังนั้น CNMI จึงไม่ได้มองเพียงแค่การจัดการแบบทันเวลาพอดี (Just-in-time หรือ JIT) หรือการลดเวลาจัดการคลังสินค้าภายในสถาบันเท่านั้น แต่ยังมองรวมไปถึงผู้ผลิตและจัดส่งสินค้าให้ทางสถาบันอีกด้วย

เพื่อที่ลดระยะเวลาทำงานโดยรวม ทาง CMNI ได้คัดเลือกทางบริษัทคู่ค้า 5 รายเพื่อเข้ามาศึกษาแนวทางการพัฒนากระบวนการร่วมกัน และกำหนดมาตรฐานการส่งสินค้าที่ทางสถาบันต้องการ ในท้ายที่สุดแล้ว ทางสถาบันสามารถลดจำนวนสินค้าที่ต้องจัดเก็บในคลังลงได้ จากจำนวนที่ต้องสำรองไว้สำหรับ 17 วันเหลือ 11.5 วัน คิดเป็นมูลค่าการจัดเก็บ 5 ล้านบาท และลดการใช้พื้นที่ในคลังสินค้าลงได้ 53 ตารางเมตร ซึ่งทางสถาบันสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้นี้ ไปใช้พัฒนาบริการอื่นๆ สำหรับคนไข้ได้

คลังสินค้าและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลรามาธิบดี

ด้วยความต้องการที่จะเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในระดับโลกของทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ทางโรงพยาบาลได้ร่วมงานกับศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้า เพื่อสร้างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้รับบริการ

จากการเล็งเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนับเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการบริการโดยรวมแล้ว ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงมีความคาดหวังอย่างสูงที่จะยกระดับกระบวนการทำงาน และขยายผลการพัฒนาวิเคราะห์งานไปสู่ส่วนงานอื่นๆ ผ่านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกัน

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาบุคคลากร ทางโรงพยาบาลได้คัดเลือกสมาชิกหลัก 4 คน ขึ้นมาทำงานร่วมกับทางศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้า โดยเรียนวิธีการคิดและฝึกปฏิบัติแบบ PDCA และวงจรการทำไคเซ็น เพื่อสร้างแนวความคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในโรงพยาบาลต่อไป

หลังจากโครงการจบลง ทางโรงพยาบาลสามารถลดเวลาที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลงได้ถึง 40% จาก 94 วันเป็น 59 วัน พร้อมทั้งสร้างความพร้อมให้กับทีมงานของโรงพยาบาลที่จะนำความรู้ไปพัฒนาส่วนอื่นต่อไป

ร่วมมือกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อสร้างความสุขให้คนปทุมธานี

ในปี 2563-2564, ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการฉีดวัคซีน โควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศ โดยมีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขึ้น โดยสามารถรองรับประชาชนได้ 1.500 คนต่อวัน

ศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้าได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการฉีดวัคซีน และสร้างความสุขให้แก่ประชาชน ด้วยการใช้ระบบลีนมาพัฒนากระบวนการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความลื่นไหลในกระบวนการทำงาน และลดเวลาการรอรับวัคซีนของประชาชน ได้ถึง 54% จาก 45 นาทีเป็น 21 นาที

กันยายน – ตุลาคม 2564: ศูนย์ฉีดวัคซีนที่อาคารยิมเนเซียม

เราใช้เครื่องมือวิเคราะห์งานแบบ TPS เพื่อระบุจุดที่เป็นคอขวดในกระบวนการทำงาน ปรับปรุงลำดับผังการเข้ารับบริการ และตั้งป้ายระบุเส้นทางการเดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถรับบริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เวลาที่ต้องใช้ในการบริการลดลง จาก 45 นาทีเป็น 31 นาที

พฤศจิการยน – ธันวาคม 2564: ศูนย์ฉีดวัคซีนในอาคารโรงพยาบาล

เนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับวัคซีน มีการลดลงเป็นลำดับ ทางโรงพยาบาลจึงทำการย้ายศูนย์ฉีดวัคซีนจากอาคารยิมเนเซียม ซึ่งมีขนาดใหญ่ เข้ามาในตัวอาคารโรงพยาบาล ที่มีขนาดเล็กลง ทางศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้า จึงใช้โอกาสนี้ในการออกแบบผังการเข้ารับบริการขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้สามารถลดเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานลงจาก 31 นาที ได้เป็น 21 นาที

จับมือข้ามฝั่งกรุงเทพ กับโรงพยาบาลบางใหญ่ ร่วมกันต้านโควิด-19

ในเดือนกันยายน 2564, ได้เกิดความร่วมมือกันระหว่างศูนย์ส่งเสริมสังคมโดยระบบโตโยต้าซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ กับโรงพยาบาลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เพื่อเพิ่มความสามารถในการฉีดวัคซีนโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ

ทีมงานทั้ง 2 ฝ่ายได้ศึกษากระบวนการให้บริการโดยละเอียด สร้างมาตรฐานและจัดลำดับการทำงาน รวมถึงกำจัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในการให้บริการวัคซีนลง

จากนั้น ทีมงานได้เข้าไปปรับปรุงเส้นทางการเดินของผู้รับวัคซีนให้เดินไปทิศทางเดียว เพื่อลดความสับสนและความซับซ้อนของกระบวนการ ส่งผลให้กระบวนการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน

ภายในเวลา 1 เดือนสั้นๆ ทางโรงพยาบาลบางใหญ่สามารถลดเวลารอรับวัคซีนลงได้จาก 61 นาทีเป็น 42 นาที และผลักดันขีดความสามารถการให้บริการวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 27% จาก 498 คน/วัน เป็น 630 คนต่อวัน

หากท่านมีความสนใจในกิจกรรม และต้องการร่วมงานกับเรา
กรุณาติดต่อผ่านทาง

อีเมล์: TDEM_TSSC@tdem.toyota-asia.com
หมายเลขโทรศัพท์:
+662-790-6961 คุณเอก ศรีเจริญ
+662-790-6635 คุณวิทวงศ์ พรฐิติฉันท์

กรุณาส่งรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (ตามเอกสารแนบ)

  • ชื่อผู้ติดต่อ ที่อยู่อีเมล์ และหมายเลขที่สามารถติดต่อกลับได้
  • ชื่อองค์กรที่ท่านสังกัด
  • รายละเอียดของงานที่องค์กรของท่านทำ และพันธกิจขององค์กร
  • เป้าหมายที่ท่านต้องการจะแก้ไขด้วยความร่วมมือกับเรา
  • ข้อมูลอื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจในเนื้อหากิจกรรมที่จะทำร่วมกัน